ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปรัชญา

ปรัชญาการศึกษา       
                จากการที่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาและปรัชญามาโดยลำดับแล้วจะได้พิจารณาต่อไปว่า ปรัชญาและการศึกษามีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดและนำไปใช้ประโยชน์ต่อการศึกษาได้อย่างไร (จำนง ทองประเสริฐ 2520 ; วิไล ตั้งจิตสมคิด 2540)
1. ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับการศึกษา ปรัชญากับการศึกษามีความสัมพันธ์กันคือ ปรัชญามุ่งศึกษาของชีวิตและจักรวาลเพื่อหาความจริงอันเป็นที่สุด ส่วนการศึกษามุ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์และวิธีการที่พัฒนามนุษย์ให้มีความเจริญงอกงาม สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทั้งปรัชญาและการศึกษามีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดจุดมุ่งหมายและหาคำตอบทางการศึกษา สรุปวาว่าปรัชญา มีความสัมพันธ์กับการศึกษาดังนี้
1.1 ปรัชญาช่วยพิจารณาและกำหนดเป้าหมายทางการศึกษา การศึกษาเป็นกิจกรรมที่ทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่พึงปรารถนา ปรัชญาจะช่วยกำหนดแนวทางหรือเป้าหมายที่พึงปรารถนา ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมฯลฯ และปรัชญาจะช่วยให้เห็นว่าเป้าหมายทางการศึกษาที่จะเลือกนั้นสอดคล้องกับการมีชีวิตที่ดีหรือไม่ ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร ปัญหาเหล่านี้นักปรัชญาอาจเสนอแนวความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกเปาหมายทางการศึกษา (วิทย์ วิศทเวทย์ 2523 : 29)
1.2 ความหมายที่จะวิเคราะห์ วิพากย์ วิจารณ์ และพิจารณาดูการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้ง ทุกแง่ทุกมุม ให้เข้าใจถึงแนวคิดหลัก ความสำคัญ ความสัมพันธ์ ละเหตุผลต่างๆ อย่างชัดเจนมีความต่อเนื่อง และมีความหมายต่อมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อมนี้เองที่เป็นงานสำคัญของปรัชญาต่อการศึกษาหรือที่เราเรียกว่า ปรัชญาการศึกษา นั่นเอง (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2523 : 34) สรุปว่าปรัชญากับการศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ปรัชญาช่วยให้เกิดความชัดเจนทางการศึกษาและทำให้นักศึกษาสามารถดำเนินการทางการศึกษาได้อย่างถูกต้องรัดกุมเพราะได้ผ่านการพิจารณา วิพากย์วิเคราะห์อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน ขจัดความไม่สอดคล้อง และหาทางพัฒนาแนวคิดใหม่ ให้กับการศึกษา

2. ความหมายของปรัชญาการศึกษา มีผู้ให้นิยามปรัชญาการศึกษา แตกต่างกันหลายทัศนะดังต่อไปนี้ จอร์จ เอฟ เนลเลอร์ (Kneller 1971 : 1) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือ การค้นหาความเข้าใจในเรื่องการศึกษาทั้งหมด การตีความหมายโดยการใช้ความคิดรวบยอดทั่วไปที่จะช่วยแนะแนวทางในการเลือกจุดมุ่งหมายและนโยบายของการศึกษา เจมส์ อี แมคเคลนเลน (Mcclellan 1976 :1 อ้างถึงใน อรสา สุขเปรม 2541) กล่าวว่าปรัชญาการศึกษา คือ สาขาวิชาหนึ่งในบรรดาสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย อันเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ วิจิตร ศรีสอ้าน (2524 : 109) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือจุดมุ่งหมาย ระบบความเชื่อ หรือแนวความคิดที่แสดงออกมาในรูปของอุดมการณ์ หรืออุดมคติ ทำนองเดียวกันกับที่ใช้ในความหมายของปรัชญาชีวิตซึ่งหมายถึง อุดมการณ์ของชีวิต อุดมคติของชีวิต แนวทางดำเนินชีวิตนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ปรัชญาการศึกษาคือ จุดมุ่งหมายของการศึกษานั่นเอง สุมิตร คุณานุกร (2523 : 39) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือ อุดมคติ อุดมการณ์อันสูงสุด ซึ่งยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษา มีบทบาทในการเป็นแม่บท เป็นต้นกำเนิดความคิดในการกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาและเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา ตลอดจนถึงกระบวนการในการเรียนการสอน สรุปว่า ปรัชญาการศึกษาคือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทาง ในการจัดการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางศึกษาอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และสมเหตุสมผล         3. ลัทธิปรัชญาการศึกษา ปรัชญาการศึกษามีอยู่มากมายหลายลัทธิ ตามลักษณะและตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต่างก็คิดและเชื่อไม่เหมือนกัน อาศัยแนวคิดของปรัชญาพื้นฐานที่แตกต่างกัน หรือนำมาผสมผสานกัน ทำให้มีลักษณะที่คาบเกี่ยวกัน หรืออาจมาจากความคิดของปรัชญาพื้นฐานสาขาเดียวกันดังนั้นปรัชญาการศึกษาจึงมีหลายลัทธิ หลายระบบ ในที่นี้จะกล่าวถึงปรัชญาการศึกษาที่เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางดังต่อไปนี้ (บรรจง จันทรสา 2522 ; อรสา สุขเปรม 2546 : 63 - 74)
3.1 ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (Essentialism)
 3.2 ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perennialism)
3.3 ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progessivism)
 3.4 ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
3.5 ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)
3.1 ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (Essentialism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่เกิดในอเมริกา เมื่อประมาณ ปี ค.ศ.1930 โดยการนำของ วิลเลี่ยม ซี แบคลี (William C. Bagley) และคณะ ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเผยแพร่แนวคิดทางการศึกษาฝ่ายสารัตถนิยม และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังนิยมเรื่อยมาอีกเป็นเวลานาน เพราะมีความเชื่อว่าลัทธิปรัชญาสารัตถนิยมมีความเข้มแข็งในทางวิชาการและมีประสิทธิภาพในการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับระเบียบวินัยได้ดีพอที่จะทำให้โลกเสรีต่อสู้กับโลกเผด็จการของคอมมิวนิสต์ (ภิญโญ สาธร :2525, 31)
3.1.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยมมาจากปรัชญาพื้นฐาน2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจิตนิยม ซึ่งมีความเชื่อว่า จิตเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคน การที่จะรู้และเห็นความจริงได้ก็ด้วยความคิด (Ideas) อีกฝ่ายหนึ่งคือ วัตถุนิยม ซึ่งมีความเชื่อในเรื่อง วัตถุนิยมวัตถุในธรรมชาติที่เราเห็น สัมผัส หรือมีประสบการณ์ต่อสิ่งเหล่านั้น ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นเนื้อหาหรือสาระ (Essence) หรือสารัตถศึกษา ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้ให้ความสนใจในเนื้อหาเป็นหลักสำคัญ ถือว่าเนื้อหาสาระต่าง ๆ เช่น ความรู้ทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ได้รับการกลั่นกรองมาดีแล้ว ควรได้รับการทำนุบำรุงและถ่ายทอดไปให้แก่คนรุ่นหลัง ถือเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดทางวัฒนธรรม
3.1.2 แนวความคิดทางการศึกษา ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า การศึกษาควรมุ่งพัฒนาความสามารถที่มนุษย์มีอยู่แล้ว เช่น ความสามารถในการจำ ความสามารถในการคิดความสามารถที่จะรู้สึก ฯลฯ การศึกษาควรมุ่งที่จะถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมกันมา ความเชื่อความศรัทธาต่าง ๆ ที่ยึดถือกันเป็นอมตะ อบรมมนุษย์ให้มีความคิดเห็น และความเป็นอยู่สมถะของการเป็นมนุษย์ (Wingo 1974 : 234 อ้างถึงใน อรสา สุขเปรม 2541) ดังนั้นจึงควรจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ทักษะ ค่านิยมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รู้จักรักษาและสืบทอดทางวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไว้ ก. จุดมุ่งหมายของการศึกษา มี 2 ระดับ คือ ระดับที่กว้าง ได้แก่การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อสังคมมีความเฉลียวฉลาด ในระดับที่แคบ มุ่งพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์เพื่อให้มีความเฉลียวฉลาด มีความประพฤติดี เป็นแบบอย่างที่ดีงามของคนรุ่นหลัง ข. องค์ประกอบของการศึกษา
1) หลักสูตร ยึดเนื้อหาวิชาเป็นสำคัญ เนื้อหาที่เป็นวิชาพื้นฐาน ได้แก่ภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเนื้อหาที่เกี่ยวกับศิลปะ ค่านิยม และวัฒนธรรม หลักสูตรจะเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ และจัดเตรียมโดยครู หรือผู้เชี่ยวชาญโดยจัดเรียงลำดับตามความยากง่าย
2) ครู เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากการศึกษาจะต้องมาจากครูเท่านั้นครูจะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ เพราะครูเป็นผู้ที่รู้เนื้อหาที่ถูกต้องที่สุด ครูเป็นผู้กำหนดกิจกรรมในห้องเรียน การกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ครูเป็นต้นแบบที่นักเรียนจะต้องทำตามเปรียบเสมือนแม่พิมพ์
3) ผู้เรียนหรือนักเรียนตามปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม จะต้องเป็นผู้สืบทอดค่านิยมไว้และถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง ผู้เรียนจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูหรือผู้ใหญ่ที่ได้กำหนดเนื้อหารสาระไว้ นักเรียนเป็นผู้รับฟังและทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาต่างๆ แล้วจดจำไว้ เพื่อจะนำไปถ่ายทอดต่อไป นักเรียนไม่จำเป็นต้องมีความคิดริเริ่ม คอยรับฟังอย่างเดียวและจดจำไว้เท่านั้น
4) โรงเรียน มีบทบทในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคม สังคม มอบหมายให้ทำอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า โรงเรียนเป็นเครื่องมือของสังคม ทำหน้าที่ตามที่สังคมมอบหมายเท่านั้น ไม่ต้องไปแนะนำ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดแก่สังคม มีหน้าที่อนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่และถ่ายทอดต่อไป เพราะถือว่าทุกอย่างในสังคมดีแล้วโรงเรียนจะต้องสร้างบรรยากาศของการศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญา จริยธรรม และถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นต่อไป นอกจากนี้โรงเรียนยังต้องยึดกฎระเบียบให้อยู่ในกรอบที่สังคมต้องการ
5) กระบวนการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับครูเป็นสำคัญ ครูเป็นผู้อธิบาย ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจ วิธีการเรียนการสอนจึงเน้นการสอนแบบบรรยายเป็นหลัก นอกจากนี้การเรียนการการสอนยังฝึกฝนการเป็นผู้นำในกลุ่ม ซึ่งผู้นำจะต้องมีระเบียบวินัย ควบคุมและรักษาตนเองได้ดีเป็นแบบอย่างที่ดี จัดตารางสอน จัดห้องเรียน แผนผังที่นั่งในห้องเรียน ครูเป็นผู้กำหนดแต่ผู้เดียว 3.2 ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perennialism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาพื้นฐานกลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล(Rational realism) หรือบางทีเรียกว่าเป็นพวกโทมนัสนิยมใหม่ (Neo – Thomism) เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบสินค้า ราคาสูงเกิดปัญหาครอบครัว ขาดระเบียบวินัย มนุษย์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ทำให้วัฒนธรรมเสื่อมสลายลงไป จึงมีการเสนอปรัชญาการศึกษาลัทธินี้ขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาเป็นสิ่งนำพามนุษย์ไปสู่ความมีระเบียบเรียบร้อย มีเหตุและผล มีคุณธรรมและจริยธรรม จึงเป็นที่มาของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม มีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาลัทธินี้ คือ อริสโตเติล (Aristotle) และเซนต์ โทมัส อะไควนัส (St. Thomas Aquinas) อริสโตเติลได้พัฒนาปรัชญาลัทธินี้โดยเน้น การใช้ความคิดและเหตุผล จนเชื่อได้ว่า Rational humanism ส่วนอะไควนัส ได้นำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า เรื่องศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุและผล แนวคิดนี้มีส่วนสำคัญโดยตรงต่อแนวคิดทางการศึกษาในศตวรรษที่ 20 นักปรัชญาที่เป็นผู้นำของปรัชญานี้ในขณะนี้คือ โรเบิร์ท เอ็ม ฮัทชินส์ (Robert M. Hutchins) และคณะได้รวบรวมหลักการและให้กำเนิดปรัชญานิรันตรนิยมขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ.1929 3.2.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญานิรันตรนิยมมีรากฐานมาจากปรัชญา จิตนิยมและปรัชญาวัตถุนิยม ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้แบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ คือ ทัศนะแรกเน้นในเรื่องเหตุผลและสติปัญญา อีกทัศนะหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะกลุ่ม ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ตั้งแต่ 2 ทัศนะ เกี่ยวข้องกับเหตุและผล จนเชื่อได้ว่าเป็น โลกแห่งเหตุผล(A world of reason) ส่วนคำว่านิรันตร เชื่อว่าความคงทนถาวรย่อมเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลง การศึกษาควรสอนสิ่งที่เป็นนิรันตร ไม่เปลี่ยนแปลง และจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทุกยุคทุกสมัย ได้แก่คุณค่าของเหตุผล คุณค่าของศาสนา เป็นการนำเอาแบบอย่างที่ดีของอดีตมาใช้ในปัจจุบันหรือย้อนกลับไปสู่สิ่งที่ดีงามในอดีต 3.2.2 แนวคิดทางการศึกษา ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติมนุษย์คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล ซึ่งความสามารถในการใช้เหตุผลนี้จะควบคุมอำนาจฝ่ายต่ำของมนุษย์ได้ เพื่อให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ปรารถนา ดังที่ โรเบิร์ต เอ็มฮัทชินส์ (Hutchins 1953 : 68) กล่าวว่า การปรับปรุงมนุษย์ หมายถึงการพัฒนาพลังงานเหตุผล ศีลธรรมและจิตใจอย่างเต็มที่ มนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังเหล่านี้ และมนุษย์ควรพัฒนาพลังที่มีอยู่ให้ดีที่สุด กาศึกษาในแนวปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม คือ การจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความคิดที่เป็นสัจธรรม มีคุณธรรม และมีเหตุผล ก. จุดมุ่งหมายของการศึกษา ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้มีจุดมุ่งหมายที่จะ สร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์เพราะมนุษย์มีพลังธรรมชาติอยู่ในตัว พลังในที่นี้คือสติปัญญา จะต้องพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ให้เต็มที่ เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาสติปัญญาอย่างดีแล้วก็จะทำอะไรอย่างมีเหตุมีผล การจัดการศึกษาก็ควรจะพัฒนาคุณสมบัติเชิงสติปัญญาและเหตุผลในตัวมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ดำรงความเป็นคนดีตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงของสังคม ข. องค์ประกอบของการศึกษา
1) หลักสูตร กำหนดโดยผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นหลักสูตรที่เน้นวิชาทางศิลปะศาสตร์ (Liberal arts) ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มศิลปะทางภาษา (Liberacy arts) ประกอบด้วยไวยากรณ์ วาทศิลป์และตรรกศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการอ่าน การฟัง การพูด การเขียนและการใช้เหตุผล อีกกลุ่มหนึ่งคือ ศิลปะการคำนวณ (Mathematical arts) ประกอบด้วยเลขคณิต วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ดาราศาสตร์ และดนตรี นอกจากนี้ยังให้ผู้เรียนรู้ผลงาน อันมีค่าของผู้มีอัจฉริยะในอดีตเพื่อคงความรู้เอาไว้ เช่น ผลงานอมตะทางด้านศิลปะ วรรณกรรม ดนตรีรวมทั้งผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในปัจจุบันได้แก่หลักสูตรของวิชา พื้นฐานทั่วไป (General education) ในระดับอุดมศึกษา
2) ครู ปรัชญาการศึกษานี้มีความเชื่อว่าเด็กเป็นผู้มีเหตุผลและมีชีวิตมีวิญญาณ ครูจะต้องรักษาวินัยทางจิตใจ และเป็นผู้นำทางวิญญาณของนักเรียนทุกคน ครูต้องเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่เสมอ เข้าใจเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างถูกต้องชัดเจน มีความคิดยาวไกล เป็นผู้ดูแลรักษาระเบียบวินัย ควบคุมความประพฤติของผู้เรียน เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดี
3) ผู้เรียน โดยธรรมชาติเป็นผู้มีเหตุผลมี สติ มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปสู่ความมีเหตุผล ถือว่าผู้เรียนมีความสนใจใคร่เรียนรู้ อยู่แล้ว ดังที่อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า All man by nature desire to know (ไพทูรย์ สินลารัตน์ 2523 : 74) การให้การศึกษาจึงต้องพัฒนาสิ่งที่ผู้เรียนมีอยู่อย่างเต็มที่ โดยมุ่งพัฒนาเป็นรายบุคคลฝึกฝนคุณสมบัติที่มีอยู่โดยการสอนและการแนะนำของครู ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเรียนเท่าเทียมกันหมด ใช้หลักสูตรเดียวกันทั้งเด็กเก่งและเด็กอ่อน ถ้าเด็กอ่อนเข้าใจช้าก็ต้องฝึกฝนบ่อยๆ หรือทำซ้ำกันเพื่อไปให้ถึงมาตรฐานเดียวกันกับเด็กเก่ง
 4) โรงเรียน ไม่มีบทบาทต่อสังคมโดยตรง เพราะเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลักใหญ่ เพราะถือว่า ถ้าเกิดการพัฒนาในตัวบุคคลแล้วก็สามารถทำให้สังคมนั้นดีขึ้นด้วยโรงเรียนจึงเป็นเสมือนตัวกลางในการเตรียมผู้เรียนให้เกิดความก้าวหน้าที่ดีงามที่สุดของวัฒนธรรมที่มีมาแต่อดีต โรงเรียนจะสร้างบรรยากาศและจัดสภาพแวดล้อมให้มีลักษณะสร้างความนิยมในวัฒนธรรมที่มีอยู่และเคร่งครัดในระเบียบวินัยโดยเน้นการประพฤติปฏิบัติ
 5) กระบวนการเรียนการสอน ใช้วิธีท่องจำเนื้อหาวิชาต่าง ๆ และฝึกให้ใช้ความคิดหาเหตุผลโดยอาศัยหลักวิชาที่เรียนรู้ไว้แล้วเป็นแนวทางพื้นฐานแห่งความคิด เพื่อพัฒนาสติปัญญาหรือเน้นด้านพุทธิศึกษา ที่เรียกว่า Intellectual Education (Wingo 1974 : 148 อ้างถึงใน อรสา สุขเปรม 2541) นอกจากนี้ผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมทางจิตใจจึงจะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ การเรียนการสอนที่กระตุ้นและหนุนให้เกิดศักยภาพดังกล่าว จึงต้องมีการอภิปรายถกเถียง ใช้เหตุผล และสติปัญญาโต้แย้งกัน ครูเป็นผู้นำในการอภิปราย ตั้งประเด็นและยั่วยุให้มีการอภิปรายถกเถียงกัน ผู้เรียนจะได้พัฒนาสติปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่
3.3 ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progessivism) ปรัชญานี้ให้กำเนิดขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดดั้งเดิมที่การศึกษามักเน้นแต่เนื้อหา สอนให้ท่องจำเพียงอย่างเดียว ทำให้เด็กพัฒนาด้านสติปัญญาอย่างเดียว ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีความกล้าและความมั่นใจในตนเองประกอบกับมีความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดแนวความคิดปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมขึ้นปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมเกิดขึ้นใน ค.ศ.1870 โดยฟรานซิส ดับเบิ้ลยูปาร์คเกอร์ (Francis W. Parker) ได้เสนอให้มีการปฏิรูปการศึกษาเสียใหม่ เพราะการเรียนแบบเก่าเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย แต่แนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมา จอห์น ดิวอี้ (John Dewey)ได้นำแนวคิดนี้มาทบทวนใหม่ โดยเริ่มงานเขียนชื่อ School of Tomorrow ออกตีพิมพ์ในปีค.ศ.1915 ต่อมามีผู้สนับสนุนมากขึ้นจึงตั้งเป็นสมาคมการศึกษาแบบพิพัฒนาการ (ProgessiveEducation Association) (Kneller 1971 : 47) และนำแนวคิดไปใช้ในโรงเรียนต่างๆ แต่ก็ถูกจู่โจมตีจากฝ่ายปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรัชญาการศึกษา สารัตถนิยมกลับมาได้รับความนิยมอีก จนสมาคมการศึกษาพิพัฒนาการนิยมต้องยุบเลิกไป แต่แนวคิดทางการศึกษาปรัชญาพิพัฒนาการนิยมยังคงใช้ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้นและแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
 3.3.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญาพิพัฒนาการนิยมมีพ้นฐานมาจากปรัชญาลัทธิประจักษ์วาท (Empirism) ซึ่งเกิดในประเทศอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต่อมาได้นำอาแนวคิดประจักรวาทมาสร้างเป็นปรัชญาลัทธิใหม่ มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น Experimentalism,Pragmatism, Instrumentalism ซึ่งปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมก็มีแนวคิดมาจากปรัชญาดังกล่าวคำว่า พิพัฒน หรือ Progessive หมายถึง ก้าวหน้า เปลี่ยนแปลง ไม่หยุด อยู่กับที่สาระสำคัญของความเป็นจริงและการแสวงหาความรู้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม บุคคลสามารถแสวงหาความรู้ได้จากประสบการณ์ ประสบการณ์จะนำไปสู่ความรู้ และความรู้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ปรัชญานี้เน้นกระบวนการ โดยเฉพาะกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์เมื่อนำมาใช้กับการศึกษา แนวทางของการศึกษาจึงต้องพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับกาลเวลาและภาวะแวดล้อมอยู่เสมอ การศึกษาจะไม่สอนให้คนยึดมั่นในความจริง ความรู้ และค่านิยมที่คงที่ หรือสิ่งที่กำหนดไว้ตายตัว ต้องหาทางปรับปรุงการศึกษาอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ (บรรจง จันทรสา 2522 : 244)ปรัชญานี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรัชญาประสบการณ์นิยม (Experimentalism)
3.3.2 แนวความคิดทางการศึกษา มีแนวคิดว่า การศึกษาคือชีวิต มิใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต หมายความว่า การที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจะต้องอาศัยการเข้าใจความหมายของประสบการณ์นิยม ฉะนั้นผู้เรียนจึงควรจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะแก่วัยของเขาและสิ่งที่จัดให้ผู้เรียนเรียนควรจะเป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจปัญหาชีวิตและสังคมในปัจจุบัน และหาทางปรับตัวให้เข้ากับภาวะที่เป็นจริงในปัจจุบัน (Kneller 1971 :48 – 53) ก. จุดมุ่งหมายของการศึกษา ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ไม่มีจุดมุ่งหมายที่ตายตัว เพราะชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกวัตถุประสงค์ของการศึกษาก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแนวทางในการแก้ปัญหาแต่ละครั้ง และเป็นวิถีทางให้เกิดการเรียนรู้ที่ใหม่กว่าต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนผู้เรียนจะต้องพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาควบคู่กันไป เรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจสามารถนำความรู้ไปปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถแก้ปัญหาได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีวินัยในตนเอง (Self discipline) ข. องค์ประกอบของการศึกษา
1) หลักสูตร ปรัชญานี้ต้องการให้ผู้เรียนเรียนจากประสบการณ์ในชีวิตจริง เป็นประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม หลักสูตรจึงครอบคลุมชีวิตประจำวันทุกรูปแบบที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมในประสบการณ์การเรียนรู้ทุกรูปแบบ หลักสูตรจะเน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม ตลอดจนชีวิตประจำวัน เนื้อหา ได้แก่ สังคมศึกษา วิชาทางภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่ความสำคัญของการศึกษา พิจารณาในแง่ของวิธีการที่นำมาใช้ คือ กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสารถในการแก้ปัญหาในบทเรียน และนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
2) ครู ไม่เป็นผู้ออกคำสั่ง แต่ทำหน้าที่ในการแนะแนวทางให้แก่ผู้เรียนแล้วจัดประสบการณ์ที่ดีที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน ครูจะต้องมีความรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวาง รู้จักผู้เรียนเป็นอย่างดีและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และวางแผนให้เกิดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของผู้เรียน จัดสภาพในโรงเรียนและในห้องเรียนให้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนให้ได้ประสบการณ์ตามที่ต้องการ
3) นักเรียน ปรัชญานี้ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนมาก ถือว่าผู้เรียน โดยธรรมชาติมีอินทรีย์ที่จะสืบเสาะแสวงหาประสบการณ์และพร้อมที่จะรับประสบการณ์ (เมธีปิลันธนานนท์ 2523 : 90) ผู้เรียนจะได้ประสบการณ์ด้วยการลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by doing) ผู้เรียนจะต้องมีอิสระในการเลือกตัดสินใจและต้องทำงานร่วมกัน (Participation) เพื่อให้การเรียนการสอนตรงกับความถนัดความสนใจและความสามารถของผู้เรียน
4) โรงเรียน ทำหน้าที่เป็นแบบจำลองสังคม โดยเฉพาะแบบจำลองที่ดีงามของชีวิตและประสบการณ์ในสังคม โดยการจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียนในแต่ละกลุ่ม เริ่มจากการเรียนรู้พื้นฐานของสังคม ลักษณะอื่นๆของสังคม โรงเรียนจะต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยโดยให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆมีความพร้อมมีความรู้จัก และเข้าใจสังคมอย่างดี พอที่จะออกไปปรับปรุงและพัฒนาสังคมได้ (ศักดาปรางค์ประทานพร 2523 : 64 – 65)
 5) กระบวนการเรียนการสอน เป็นการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child centered) โดยให้ผู้เรียนมีบทบาทมากที่สุด การเรียนเป็นเรื่องการกระทำ (Doing) มากกว่ารู้ (Knowing) การเรียนการสอนจึงให้ผู้เรียนลงมือกระทำเพื่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ การกระทำทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ ครูต้องจัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ (Problem solving)
3.4 ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)ในปี ค.ศ.1930 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในสหรัฐอเมริกา เกิดปัญหาการว่างงาน คนไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคม จึงมีนักคิดกลุ่มหนึ่งพยายามจะแก่ปัญหาสังคมโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ผู้นำของกลุ่มนักคิดกลุ่มนี้ ได้แก่ จอรัจ เอส เค้าทส์ (George S.Counts) ซึ่งมีความเห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และควรเห็นว่าโรงเรียนควรมีหน้าที่แก้ปัญหาเฉพาะอย่างของสังคมผู้ที่วางรากฐานและตั้งทฤษฎีปฏิรูปนิยม ได้แก่ ธีโอดอร์ บราเมลด์ (Theodore Brameld)ในปีค.ศ.1950 โดยได้เสนอปรัชญาการศึกษาเพื่อปฏิรูปสังคมและได้ตีพิมพ์ ลงในหนังสือหลายเล่ม ธีโอดอร์ บราเมลด์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
3.4.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีแนวความคิดที่พัฒนามาจากปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือ ปฏิบัตินิยม ซึ่งมีความเชื่อว่า ความรู้ ความจริง เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความรู้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ปรัชญาพิพัฒนาการนิยมเน้นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน ส่วนปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีแนวความคิดว่า ผู้เรียนมิได้เรียนเพื่อมุ่งพัฒนาตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสังคมให้สังคมเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคำว่า ปฏิรูป หรือ Reconstruct หมายถึง บูรณะ การสร้างขึ้นมาใหม่ หรือทำขึ้นใหม่ เน้นการสร้างสังคมใหม่ เพราะว่าสังคมขณะนั้นมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง การศึกษาจึงมีบทบาทในการเป็นเครื่องมือสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นมาใหม่ เป็นสังคมในอุดมคติ ที่มีความเพียบพร้อม และจะต้องทำอย่างรีบด่วน
 3.4.2 แนวคิดทางการศึกษา เนื่องจาการศึกษามีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก การศึกษาจึงควรนำสังคมไปสู่สภาพที่ดีที่สุด การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจและ มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมอุดมคติขึ้นมาให้เหมาะสมกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมและภาวะทางเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ ก. จุดมุ่งหมายของการศึกษา การศึกษาจะต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ระบบสังคมขึ้นมาใหม่จากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ และสังคมใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องอยู่บนรากฐานของประชาธิปไตย การศึกษาจะต้องส่งเสริมการพัฒนาสังคม ให้ผู้เรียนนำความรู้ไปพัฒนาสังคมโดยตรง ข. องค์ประกอบของการศึกษา
1) หลักสูตร เนื้อหาวิชาที่นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร จะเกี่ยวกับปัญหาและสภาพของสังคมเป็นส่วนใหญ่จะเน้น วิชาสังคมศึกษา เช่น กระบวนการทางสังคมการดำรงชีวิตในสังคม สภาพเศรษฐกิจและการเมือง วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ศิลปะในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีความเข้าใจ ในกลไกของสังคม และสามารถหาแนวทางในการสร้างขึ้นมาสังคมใหม่
 2) ครูทำหน้าที่รวบรวม สรุป วิเคราะห์ปัญหาของสังคมแล้วเสนอ แนวทางให้ผู้เรียนแก้ปัญหาของสังคม ครูจะต้องให้ผู้เรียนทุกคนใส่วนร่วมในการคิดพิจารณาในการแก้ปัญหาต่างๆและเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์สังคมขึ้นมาใหม่ และเชื่อมั่นว่าจะกระทำได้โดยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย
3) ผู้เรียน ปรัชญานี้เชื่อว่า ผู้เรียนคือผู้ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาสังคม และ ความยุติธรรมดังนั้น ผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในปัญหาสังคมเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาสังคม ผู้เรียนจะได้รับการเรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆที่จะนำมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคม แล้วให้ผู้เรียนหาข้อสรุปและตัดสินใจเลือก (Kneller 1971 : 36)
4) โรงเรียน ตามปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมโรงเรียนจะมีบทบาทต่อสังคมโดยตรง โดยมีส่วนในการรับรู้ปัญหาของสังคม ร่วมกันแก้ปัญหาของสังคม รวมทั้งสร้างสังคมใหม่ที่เหมาะสม ดีงาม โรงเรียนจะต้องใฝ่หาว่า อนาคตของสังคมจะเป็นเช่นไร แล้วนำทางให้ผู้เรียนไปพบกับสังคมใหม่ โดยให้การศึกษาแก่ผู้เรียนเพื่อพร้อมที่จะวางแผนให้กับสังคมใหม่และโรงเรียนจะต้องมีบรรยากาศในการเป็นประชาธิปไตย ยอมรับฟังความคิดเห็นของคน ส่วนใหญ่ ละเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด วงแผน และดำเนินการเป้าหมายของ โรงเรียนคือ โรงเรียนชุมชน (Community school)
5) กระบวนการเรียนการสอน มีลักษณะคล้ายกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม คือ ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง และลงมือกระทำเอง สามารถมองเห็นปัญหาและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ด้วนตนเอง โดยใช้วิธีการต่างๆ หลายวิธี เช่นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) วิธีการโครงสร้าง (Project method) และวิธีการแก้ปัญหา (Problem solving) เป็นเครื่องมือ
3.5 ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ปรัชญานี้เกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกที่ว่ามนุษย์กำลังสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง การศึกษาที่มีอยู่ก็มีส่วนทำลายความเป็นมนุษย์ เพราะสอนให้ผู้เรียนอยู่ในกรอบของสังคมที่จำกัดเสรีภาพความเป็นตัวของตัวเองให้ลดน้อยลง นอกจากนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีส่วนในการทำลายความเป็นมนุษย์ เพราะต้องพึ่งพามันมากเกินไปนั่นเองผู้ให้กำเนิดแนวความคิดใหม่ทางปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม ได้แก่ ซอเร็น คีร์เคอร์การ์ด (Soren Kierkegard) นักปรัชญาชาวเดนมาร์ค เขาได้เสนอความคิดว่า ปรัชญาเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ดังนั้นทุกคนจึงควรสร้างปรัชญาของตนเองจากประสบการณ์ ไม่มีความ จริงนิรันดร์ให้ยึดเหนี่ยวเป็นสรณะตัวตาย ความจริงที่แท้คือสภาพของมนุษย์ (Human condition)(กีรติ บุญเจือ 2522: 14 ) แนวคิด ของ คีร์เคอร์การ์ด มีผู้สนับสนุนอีกหลายคน ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยในช่วงปี ค.ศ. 1950 – 1965 แต่ความพยายาม ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาก็เป็นเวลาราว10 ปีต่อมาและผู้ริเริ่มนำมาใช้ทดลองในโรงเรียน คือ เอ เอส นีลล์ (A.S. Neil) โดยทดลองในโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer hill) ในประเทศอังกฤษ
 3.5.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญานี้มีความสนใจและความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่จริงของมนุษย์ มนุษย์จะต้องเข้าใจและรู้จักตนเอง มนุษย์ทุกคนมีความสำคัญและมีลักษณะเด่นเฉพาะตนเอง ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกตัดสินใจในการกระทำสิ่งใดๆแต่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ปรัชญาอัตถิภาวนิยมนี้ยกย่องมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด ส่งเสริมให้มนุษย์มีความเป็นตัวของตัวเองแต่ก็ต้องไม่มองข้ามเสรีภาพของอื่น หมายถึงจะต้องเป็นผู้ใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดแระโยชน์ต่อส่วนรวม
3.5.2 แนวความคิดทางการศึกษา คำว่า อัตถิภาวะ ตามสารานุกรมปรัชญาอธิบายว่า มาจาก คำว่าอัตถิ = เป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพ (กีรติ บุญเจือ 2521 : 280) เมื่อรวมกันแล้วแปลว่า สภาพที่เป็นอยู่ (Existence) ดังนั้นการศึกษาตามปรัชญาอัตถิภาวนิยมจึงส่งเสริมให้มนุษย์แต่ละคนรู้จักพิจารณาตัดสินสภาพและเจตจำนงที่มีความหมายต่อการดำรงชีวิต การศึกษาจะต้องให้อิสระแก่ผู้เรียนที่จะเลือกสรรสิ่งต่างๆได้อย่างเสรี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ก. จุดมุ่งหมายของการศึกษา การศึกษาจะต้องทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตนเอง ว่ามีความต้องการอย่างไร แล้วพัฒนาตนเองไปตามความต้องการอย่างอิสระ เพื่อจะได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนเองได้อย่างเต็มที่ด้วยการเลือกเรียนได้ตามความพอใจ และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก นอกจากนี้ยังมุ่งให้ผู้เรียนเป็นผู้มีวินัยในตนเอง (Self discipline) ข. องค์ประกอบของการศึกษา
 1) หลักสูตร ไม่กำหนดตายตัว แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นทางสาขามนุษยศาสตร์ (Humanities) เช่น ศิลปะ ปรัชญาวรรณคดี ประวัติศาสตร์ การเขียน การละคร จิตรกรรม ศิลปะประดิษฐ์ นักปรัชญาเชื่อว่างวิชาเหล่านี้จะฝึกฝนผู้เรียนทางด้านสุนทรียศาสตร์ อารมณ์ และศีลธรรม จริยธรรมอันดีงาม วิชาต่าง ๆไม่ได้จัดให้เรียนตายตัว แต่จะให้ผู้เรียนเลือกได้ตามความพอใจ และความเหมาะสมเพื่อผู้เรียนจะได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง
2) ครู มีบทบาทคล้ายกับปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ทำหน้าที่คอยกระตุ้น หรือเร้าให้ผู้เรียนตื่นตัว ให้เข้าใจตนเอง สามารถใช้ความถนัดและความสามารถเฉพาะตัวออกมาให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ครูจะให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนมาก ให้เสรีภาพ และเคารพในศักดิ์ศรีของผู้เรียน ให้ผู้เรียนรู้จักรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง และครูจะต้องเป็นผู้รู้จริงในเรื่องที่สอนซื่อสัตย์และจริงใจต่อผู้เรียน
3) ผู้เรียน ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในกระบวนการศึกษาและเชื่อว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่ มีความคิด มีความสามารถในตนเองมีเสรีภาพอย่างแท้จริง เป็นผู้ทีเลือกแนวทางที่จะพัฒนาตนเอง ด้วยตนเอง เพราะเป้าหมายการศึกษามิใช่เนื้อความรู้ มิใช่เพื่อสังคม แต่เพื่อผู้เรียนที่จะรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง ด้วนเหตุนี้แนวทางจริยธรรม และการประพฤติปฏิบัติต่างๆเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่จะเลือกใช้วิธีทางใด แต่ทั้งนี้จะต้องมีวินัยในตนเอง และรับผิดชอบต่อการกระทำและผลที่เกิดขึ้น (Power 1982 : 145 อ้างถึงใน อรสา สุขเปรม 2541)
 4) โรงเรียน ต้องสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพทั้งในและนอกห้องเรียนและจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้เรียนเกิดความพอใจที่จะเรียน สร้างคนให้เป็นตัวของตนเอง คือให้นักเรียนเลือกอย่างอิสระ ส่วนแนวทางในด้านจริยธรรม ทางโรงเรียนจะไม่กำหนดตายตัวแต่จะให้ผู้เรียนได้เลือกแนวทางของผู้เรียน

 5) กระบวนการเรียนการสอน เน้นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ให้ผู้เรียนพบความเป็นจริงด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนด้วยตนเองของเขาเอง การเรียนจะต้องเรียนรู้จากสิ่งภายในก่อน หมายถึงจะต้องให้ผู้เรียนรู้ว่าตนเองพอใจอะไรมีความต้องการอะไรอย่างแท้จริง แล้วเลือกเรียนในสิ่งที่พอใจหรือต้องการ กระบวนการเรียนการสอนจะเน้นการมีส่วนร่วม เป็นหลักสำคัญในการเรียนรู้ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม เป็นปรัชญาที่ท้าทายแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ และได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ในประเทศไทยได้มีการนำมาทดลองใช้เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นความพยายามที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีอิสรเสรีภาพในเลือกเรียนวิชาต่างๆ ปัจจุบันโรงเรียนนี้ยังดำเนินการสอนอยู่ แต่ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมและนับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สรุป ปรัชญาพื้นฐาน เป็นปรัชญาที่เป็นรากฐานในการกำเนิด ปรัชญาการศึกษา ดังนั้นการศึกษาพื้นฐาน ทำให้เรามีความเข้าใจที่มา แนวคิด ในลักษณะปรัชญาได้ถ่องแท้มากขึ้น ไม่จิตนิยม ที่เน้นจิตเป็นสำคัญ เน้นความเชื่อในโลกแห่งวัตถุ และการสัมผัส ประสบการณ์นิยมที่เน้นโลกแห่งประสบการณ์เป็นหลักให้เรามุ่งทำงาน มากกว่าเรียนแต่ทฤษฎี อัตถิภาวนิยม เห็นว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่าและให้ความสำคัญของมนุษย์มากปรัชญาการศึกษาทั้ง 5 ลัทธิดังกล่าว แต่ละปรัชญาจะมีแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกัน การนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา จะต้องพิจารณาว่าแนวทางใด จึงจะดีที่สุด ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง ปรัชญาการศึกษาลัทธิหนึ่งอาจจะเหมาะกับประเทศหนึ่ง เพราะเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ต้องใช้ลัทธิการศึกษาอีกลัทธิหนึ่ง ประเทศไทยก็ได้นำเอาปรัชญาการศึกษานั้นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม 
              
   

ปรัชญาหลักภาษา
 มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทักษะทางภาษาไทยและหลักภาษาไทยเข้าใจและตระหนักในคุณค่าและ ความสำคัญของภาษาไทยและหลักภาษา มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยบูรณาการองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล จนสามารถพัฒนาศักยภาพแห่งตนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและงานอาชีพ ตลอดจนเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
ทฤษฎีการเรียนรู้
1. การกระทำใด ๆ ถ้าได้รับการเสริมแรง จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ส่วนการกระทำที่ไม่มีการเสริมแรง แนวโน้มที่ความถี่ของการกระทำนั้นจะลดลงและหายไปในที่สุด
2. การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว
3. การลงโทษทำให้เรียนรู้ได้เร็วและลืมเร็ว 4. การให้แรงเสริมหรือให้รางวัลเมื่อผู้เรียนกระทำพฤติกรรมที่ต้องการ สามารถช่วยปรับหรือปลูกฝังนิสัยที่ต้องการได้ การนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
1. ในการสอน การให้การเสริมแรงหลังการตอบสนองที่เหมาะสมของเด็กจะช่วยเพิ่มอัตรากาตอบสนองที่เหมาะสมนั้น
 2. การเว้นระยะการเสริมแรงอย่างไม่เป็นระบบ หรือเปลี่ยนรูปแบบการเสริมแรงจะช่วยให้การตอบสนองของผู้เรียนคงทนถาวร
 3. การลงโทษที่รุนแรงเกินไป มีผลเสียมาก ผู้เรียนอาจไม่ได้เรียนรู้หรือจำสิ่งที่เรียนรู้ไม่ได้ ควรใช้วิธีการงดการเสริมแรงเมื่อผู้เรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
4. หากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปลูกฝังนิสัยให้แก่ผู้เรียน ควรแยกแยะขั้นตอนของปฏิกิริยาตอบสนองออกเป็นลำดับขั้น โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน และจึงพิจารณาแรงเสริมที่จะให้แก่ผู้เรียน

2. ทฤษฎีการเรียนรู้พุทธิปัญญานิยม (Constructivism) ทฤษฎี Constructivism มีหลักการที่สำคัญว่า ในการเรียนรู้ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กระทำ (active) และสร้างความรู้ ความเชื่อพื้นฐานของ Constructivism มีรากฐานมาจาก 2 แหล่ง คือจากทฤษฎีพัฒนาการของพีอาเจต์ และวิก็อทสกี้ ทฤษฎี Constructivism จึงแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎี คือ
1. Cognitive Constructivism หมายถึงทฤษฎีการเรียนรู้พุทธิปัญญานิยม ที่มีรากฐานมาจากทฤษฎีพัฒนาการของพีอาเจต์ ทฤษฎีนี้ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้กระทำ (active) และเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นในใจเอง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีบทบาทในการก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางพุทธิปัญญาขึ้น เป็นเหตุให้ผู้เรียน ปรับความเข้าใจเดิมที่มีอยู่ให้เข้ากับข้อมูลข่าวสารใหม่ จนกระทั่ง เกิดความสมดุลทางพุทธิปัญญา หรือเกิดความรู้ใหม่ขึ้น
2. Social Constructivism เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีพัฒนาการของวิก็อทสกี้ ซึ่งถือว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น (ผู้ใหญ่หรือเพื่อน) ในขณะที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรืองาน ในสภาวะสังคม (Social Context) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญและขาดไม่ได้ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทำให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยการเปลี่ยนแปรความเข้าใจเดิมให้ถูกต้องหรือซับซ้อนกว้างขวางขึ้น ความคิดพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้พุทธิปัญญานิยม
1.ผู้เรียนสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง
2.การเรียนรู้สิ่งใหม่ขึ้นกับความรู้เดิมและความเข้าใจที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีความสำคัญต่อการเรียนรู้

4.การจัดสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่คล้ายคลึงกับชีวิตจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ตัวอย่างทฤษฎีในกลุ่มพุทธิปัญญานิยม ทฤษฎีทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรุนเนอร์ บรุนเนอร์ (Bruner) เป็นนักจิตวิทยาที่สนใจเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญาต่อเนื่องจากเพียเจต์ บรุนเนอร์เชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจ และการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการค้นพบด้วยตัวเอง (discovery learning) แนวคิดที่สำคัญของ บรุนเนอร์มีดังนี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น